ตรวจสุขภาพประจำปี รวมคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง
สุขภาพดี ทั้งกาย-ใจ
บุคลากรทางการแพทย์
สุขภาพกายดี
ปัญหา

ปัจจุบันนโยบายสาธารณสุขของไทย เน้นเรื่องด้านการรักษามากกว่าด้านการป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้คนรักษาสุขภาพโฆษณาของ สสส. ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีแรงจูงใจที่มากพอให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านการบริโภค (เช่น กินอาหารรสจัด ดื่มสุรา สูบบุหรี่) ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ภาครัฐยังขาดการส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย (เช่น การออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปี และการรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด) ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยระยะยาว ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

นอกจากนั้น สิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บางประการที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของคนไทย อาทิ แว่นตาสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การคัดกรองมะเร็ง วัคซีนป้องกันโรคบางโรคสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และการตรวจสุขภาพจิต ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีความคุ้มค่าในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา หรือหากพบโรค (ในกรณีโรคมะเร็ง) ในระยะเวลาที่รวดเร็วย่อมทำการรักษาได้ง่ายกว่าและประหยัดค่าใช้ในการรักษาได้มากกว่า

ข้อเสนอ
  • ที่ผ่านมา สิทธิในการคัดกรองมะเร็งหลายโรคอยู่ในสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว แต่ยังติดที่ต้องมีอาการบ่งชี้ก่อน จึงจะให้แพทย์สั่งตรวจได้ ยกเว้นมะเร็งปากมดลูก ทำให้มีประชาชนกลุ่มเสียง เข้าไม่ถึง และตกหล่นจากการคัดกรองมะเร็ง
  • บรรจุสิทธิคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย 6 ชนิดลงในสิทธิตรวจสุขภาพบัตรทองตามความเสี่ยง ไม่ต้องรอแพทย์สั่ง เพื่อให้เข้าถึงการรักษามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีค่าเดินทางเพื่อจูงใจให้ทุกคนเข้ามาตรวจสุขภาพ
  • พัฒนาสิทธิการคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิด ให้เข้าถึงง่ายและดีขึ้น ดังนี้
    • มะเร็งเต้านม
      • ปัจจุบันมีการตรวจ mammogram อยู่แล้ว แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งตรวจ การคัดกรองดังกล่าวจึงควรอยู่ในสิทธิการตรวจสุขภาพประจำปี ขึ้นกับความเสี่ยง ได้แก่
        • ผู้หญิง 40 - 55 ปีที่ไม่มีอาการ ควรได้ตรวจ mammogram ทุก 1 ปี
        • ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ mammography ทุก 2 ปี
        • กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจทุกปี ไม่ว่าจะเป็นผุ้หญิงที่มีคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่เคยได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอกเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้มีประวัติการรับฮอร์โมนเสริมหลังหมดประจำเดือนติดต่อกันเกิน 5 ปี
    • มะเร็งปากมดลูก
      • ปัจจุบันสิทธิในการตรวจ pap smear ในผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ ครอบคลุมในสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ตามสิทธิเฝ้าระวังโรค แต่ผู้ที่ไม่ได้เข้าไปใช้สิทธิยังมีอีกมาก
      • การระบุสิทธิคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในการตรวจสุขภาพประจำปี และมีค่าเดินทางให้ จะช่วยจูงใจให้ทุกคนเข้าตรวจคัดกรองมากขึ้น
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่
      • ปัจจุบัน สิทธิในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามบัตรทอง คือ การตรวจเลือดในอุจจาระ ซึ่งยังไม่แม่นยำ หากไม่ทำคู่กับการส่องกล้อง Colonoscopy ร่วมด้วย
      • เพิ่มสิทธิในการตรวจส่องกล้องให้กับกลุ่มเสี่ยงมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอายุเริ่มตรวจ นับจากอายุของผู้ที่เป็นมะเร็งในครอบครัว ลบ 10 ปี และตรวจทุก1 - 3 ปี
    • มะเร็งต่อมลูกหมาก
      • ปัจจุบัน การเจาะเลือดดูค่า PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากต้องให้แพทย์สั่งตามข้อบ่งชี้ ไม่สามารถเริ่มตรวจเองได้
      • เพิ่มสิทธิการตรวจเข้าไปในการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพอยู่แล้ว
    • มะเร็งตับ
      • การเจาะเลือดดูค่า AFP และการ ultra-sound ช่องท้องเป็นสิทธิบัตรทอง ปกติไม่จำเป็นต้องคัดกรองทุกคน ยกเว้นกลุ่มที่เป็นไวรัสตับอักเสบที่แพทย์จะต้องให้คัดกรองอยู่แล้ว
      • เพิ่มสิทธิในกลุ่มเสี่ยง เช่น ในภาคอีสานจะมีมะเร็งตับอีกชนิด คือ Cholangiocarcinoma ที่เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับที่มาจากปลาน้ำจืด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ ควรจะต้องรับการคัดกรองมะเร็งส่วนนี้อย่างสม่ำเสมอ
    • มะเร็งปอด
      • ปัจจุบันตามสิทธิบัตรทองมีทำเอ็กซเรย์ปอดแต่ยังขาดความแม่นยำในการคัดกรอง ควรใช้วิธีการคัดกรองด้วย CT ที่แม่นยำกว่า
      • เพิ่มสิทธิในการตรวจ CT ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอด ได้แก่ กลุ่มที่อายุ 55 ปี ขึ้นไปที่เป็นผู้สูบบุหรี่จัดในอัตรา 30 pack-year เป็นต้นไป รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในภูมิภาคมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 และมลพิษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บอกต่อนโยบาย
สร้างป้ายหาเสียงของคุณ!
ออกแบบป้ายหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายของก้าวไกลที่คุณชื่นชอบ เพื่อส่งเสียงให้ก้าวไกลเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบที่คุณอยากเห็น
----
*โปรดเลือกใช้ภาพของตนเอง โดยไม่ใช่ภาพของบุคคลอื่นที่เป็นการกล่าวหาหรือทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นความเห็นของบุคคลอื่น
ลุย