ถึงแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการอุดหนุนเงินให้กับโรงเรียนเป็นเงินรายหัว แต่ในความเป็นจริงนั้น การเรียนยังไม่ฟรีจริง ทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายจริงที่ต้องแบกรับ
รายงาน กสศ. ระบุว่ามี “ค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการศึกษา” สูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อคนต่อปี (เช่น ค่าบำรุงการศึกษา, ค่าเครื่องแบบ, ค่าหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน และ ค่าเดินทางไปเรียน)
ความไม่เป็นธรรมและภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน จนทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาในช่วงโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเด็กที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษาสูงเกิน 200,000 คน (จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ 2564)
นอกจากนี้ การอุดหนุนเงินสำหรับการจัดการการเรียนสอนที่ให้ตรงไปที่โรงเรียน ยังถูกจัดสรรโดยคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวคูณด้วยจำนวนนักเรียนเป็นหลัก ทำให้เกิดผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีความต้องการเฉพาะ ที่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เป็นผลให้คุณภาพการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างแต่ละโรงเรียน