ชีวิตจริงในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์-บันเทิง ไม่ได้โรแมนติกเหมือนในหนัง
ประเทศไทยมีบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์-บันเทิงที่มีศักยภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างภาพยนต์ไทยที่ได้รับรางวัลในเวทีโลก ผู้พัฒนาเกมสัญชาติไทยที่ขายในตลาดสากลได้ แต่ยังคงเผชิญอุปสรรคในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใบอนุญาตต่าง ๆ การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การผูกขาด และไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเพียงพอให้แข่งขันในตลาดสากลได้
แม้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐจะกล่าวถึงคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” บ่อย ๆ จนดูเหมือนให้ความสำคัญ แต่งบประมาณที่จัดสรรให้มีน้อยมาก ปีที่ผ่านมามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ“ซอฟต์พาวเวอร์”เพียง 60 ล้านบาท หน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับงบประมาณเพียง 300 ล้านบาท ทั้งที่หน่วยงานหลักอย่าง กระทรวงวัฒนธรรมรับงบประมาณต่อปีกว่า 7,000 ล้านบาท
ปัญหาจึงไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณที่จำกัด แต่รัฐบาลมองวัฒนธรรมตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เลือกที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ และมองศิลปะ วัฒนธรรม เป็นเพียงเครื่องมือควบคุมบังคับกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อในสิ่งที่รัฐอยากให้เชื่อจึงพยายามห้ามและควบคุมความสร้างสรรค์ต่าง ๆ ผ่านกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พรรคก้าวไกล เชื่อว่าศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ คือ เสื้อผ้าที่เราไม่เพียงสวมใส่ แต่ คือ ความเป็นตัวตนของเรา ที่มีความหลากหลาย ลื่นไหล เปลี่ยนสไตล์ได้ และยังเป็นเสื้อผ้าที่เราเอาไปขาย สร้างงานที่ดี สร้างรายได้ สร้างชื่อของคนไทยในเวทีโลก
พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นจากพื้นฐาน คือ เปลี่ยนภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมใหม่ เปิดพื้นที่เสรีภาพ ปรับโครงสร้างอำนาจ เพิ่มงบประมาณส่งเสริมงานสร้างสรรค์ ทลายทุนผูกขาด เติมตลาดให้ผู้ประกอบการอยู่ได้