ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานที่สูงเกินไป อย่างเช่นแพทย์ ต้องทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยวันละ 14 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาการทำงานที่มากเกินไปส่งผลต่อความสามารถต่อการให้บริการกับประชาชน เช่น ความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรค การทำหัตถการ ทำให้ประชาชนอยู่ในความเสี่ยงในการรักษาที่ผิดพลาด
ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีชั่วโมงการทำงานสูง แต่ค่าตอบแทนนอกเวลากลับได้รับอย่างไม่เหมาะสม และบางกรณีก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนนอกเวลา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์หมดกำลังใจในการทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐ และนำไปสู่การลาออกเข้าไปอยู่ในระบบเอกชนที่ผลตอบแทนดีกว่า (กรณีแพทย์ลาออกปีละ 500 - 600 คน)
นอกจากนั้น บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการกู้ชีพฉุกเฉิน ส่วนใหญ่มาจากอาสาสมัครตามมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินงานไม่ได้มีระบบและหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการ หรือไม่ได้สำเร็จการศึกษาในด้าน paramedic และยังไม่ได้รับการกำกับดูแลด้านมาตรฐานการปฏิบัติงานจากภาครัฐ เพราะว่าอาสาสมัครเหล่านี้ถือเป็นคนแรกที่เข้าไปในที่เกิดเหตุ อีกทั้งหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบุคลากรด้านการกู้ชีพฉุกเฉินไม่เพียงพอ