ปัจจุบันนโยบายสาธารณสุขของไทย เน้นเรื่องด้านการรักษามากกว่าด้านการป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้คนรักษาสุขภาพโฆษณาของ สสส. ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีแรงจูงใจที่มากพอให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านการบริโภค (เช่น กินอาหารรสจัด ดื่มสุรา สูบบุหรี่) ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ภาครัฐยังขาดการส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย (เช่น การออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปี และการรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด) ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยระยะยาว ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
นอกจากนั้น สิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บางประการที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของคนไทย อาทิ แว่นตาสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การคัดกรองมะเร็ง วัคซีนป้องกันโรคบางโรคสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และการตรวจสุขภาพจิต ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีความคุ้มค่าในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา หรือหากพบโรค (ในกรณีโรคมะเร็ง) ในระยะเวลาที่รวดเร็วย่อมทำการรักษาได้ง่ายกว่าและประหยัดค่าใช้ในการรักษาได้มากกว่า