เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
เกษตรก้าวหน้า
ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
เกษตรกร
ปัญหา

ปัจจุบัน เกษตรกรจำนวนมากขาดเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดในที่ดินที่ตนเองใช้ชีวิตและทำมาหากินมาหลายรุ่น โดยกว่า 1 ล้านคน กำลังประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับรัฐ ที่บางกรณียืดเยื้อมาหลายสิบปี และถูกซ้ำเติมโดยนโยบายของรัฐที่ผ่านมา (ป่าอนุรักษ์ 300,000-400,000 ราย / ป่าสงวนแห่งชาติ 400,000-500,000 ราย / ที่ราชพัสดุ 100,000-200,000 ราย / ที่ดิน ส.ป.ก. 200,000-300,000 ราย)

นอกจากจะขาดความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การขาดเอกสารสิทธิ์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และ ไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

แม้เกษตรกรที่มีที่ดิน ส.ป.ก. ก็ยังไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพราะเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิ์ที่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือการครอบครอง โดยห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นแต่การถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาท ที่ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้นกับ ธกส.) และการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินและเปลี่ยนอาชีพของพี่น้องเกษตรกร - ในทางปฏิบัติ ข้อจำกัดดังกล่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนมือ กลับกลายเป็นกลไกที่เปิดช่องให้นายทุนบางรายเข้ามารวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. จากเกษตรกรได้ในราคาถูกนอกกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกในการขายที่ดินในราคาที่เหมาะสมผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนและซ้ำเติมถึงปัญหาในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน โดย 80% ของที่ดินทั้งหมดกระจุกอยู่ที่คนที่รวยที่สุด 5% ในขณะที่ 75% ของคนไทย ไม่มีที่ดินของตนเอง

หากต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การรับประกันความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ข้อเสนอ
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน:
    • (1) พัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบรวมแปลง (รวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่แต่ละบุคคล/นิติบุคคลถืออยู่) แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิน 300 ล้านบาท
    • (2) ปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรายแปลง (แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง
    • (3) ลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดิน (Negative Land Tax) สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธารณะ) ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน (3-10 ปี)
บอกต่อนโยบาย
สร้างป้ายหาเสียงของคุณ!
ออกแบบป้ายหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายของก้าวไกลที่คุณชื่นชอบ เพื่อส่งเสียงให้ก้าวไกลเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบที่คุณอยากเห็น
----
*โปรดเลือกใช้ภาพของตนเอง โดยไม่ใช่ภาพของบุคคลอื่นที่เป็นการกล่าวหาหรือทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นความเห็นของบุคคลอื่น
ลุย