เปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม
เกษตรก้าวหน้า
ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
เกษตรกร
ปัญหา

ปัจจุบัน เกษตรกรจำนวนมากขาดเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดในที่ดินที่ตนเองใช้ชีวิตและทำมาหากินมาหลายรุ่น โดยกว่า 1 ล้านคน กำลังประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับรัฐ ที่บางกรณียืดเยื้อมาหลายสิบปี และถูกซ้ำเติมโดยนโยบายของรัฐที่ผ่านมา (ป่าอนุรักษ์ 300,000-400,000 ราย / ป่าสงวนแห่งชาติ 400,000-500,000 ราย / ที่ราชพัสดุ 100,000-200,000 ราย / ที่ดิน ส.ป.ก. 200,000-300,000 ราย)

นอกจากจะขาดความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การขาดเอกสารสิทธิ์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และ ไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

แม้เกษตรกรที่มีที่ดิน ส.ป.ก. ก็ยังไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพราะเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิ์ที่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือการครอบครอง โดยห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นแต่การถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาท ที่ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้นกับ ธกส.) และการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินและเปลี่ยนอาชีพของพี่น้องเกษตรกร - ในทางปฏิบัติ ข้อจำกัดดังกล่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนมือ กลับกลายเป็นกลไกที่เปิดช่องให้นายทุนบางรายเข้ามารวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. จากเกษตรกรได้ในราคาถูกนอกกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกในการขายที่ดินในราคาที่เหมาะสมผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนและซ้ำเติมถึงปัญหาในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน โดย 80% ของที่ดินทั้งหมดกระจุกอยู่ที่คนที่รวยที่สุด 5% ในขณะที่ 75% ของคนไทย ไม่มีที่ดินของตนเอง

หากต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การรับประกันความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ข้อเสนอ
  • ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด อย่างเป็นธรรม ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้:
    • (i) หากผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับ ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ตรงกัน: ออกโฉนดที่ดินได้เลย
      • ภายใน 5 ปีแรก: โอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนอง ต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน
      • หลัง 5 ปีผ่านไป: ทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป
    • (ii) หากผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับ ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ตรงกัน: ออกโฉนดที่ดินต่อเมื่อ
      • (1) เป็นผู้ที่มีหลักฐานใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และ
      • (2) เป็นผู้ที่มีหลักฐานข้อตกลงระหว่างผู้ได้รับสิทธิเดิมกับผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินจริง และ
      • (3) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านบาท (ไม่นับรวมมูลค่าของที่ดิน ส.ป.ก. ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นโฉนด)
      • สำหรับกรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อการเกษตร: ได้รับการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
      • สำหรับกรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกจากการเกษตร: ได้รับการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด เฉพาะผู้ที่ครอบครองที่ดินรวมกันทั้งหมด (ทั้งโฉนดที่ดินแปลงอื่นๆ และ ส.ป.ก. ที่จะถูกเปลี่ยนเป็นโฉนด) ไม่เกิน 50 ไร่
      • ภายใน 10 ปีแรก: โอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนอง ต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน
      • หลัง 10 ปีผ่านไป: ทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป
  • ที่ดินส่วนที่เกิน 50 ไร่ (ตามเงื่อนไขข้างบน) หรือได้มาแบบผิดกฎหมาย จะถูกนำเข้าสู่ธนาคารที่ดินเพื่อนำมากระจายให้กับประชาชน เช่น เกษตรกรรายย่อย สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เช่าใช้ประโยชน์
บอกต่อนโยบาย
สร้างป้ายหาเสียงของคุณ!
ออกแบบป้ายหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายของก้าวไกลที่คุณชื่นชอบ เพื่อส่งเสียงให้ก้าวไกลเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบที่คุณอยากเห็น
----
*โปรดเลือกใช้ภาพของตนเอง โดยไม่ใช่ภาพของบุคคลอื่นที่เป็นการกล่าวหาหรือทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นความเห็นของบุคคลอื่น
ลุย