ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ
ปัญหา
นักเรียนไทยเรียนหนักและมีจำนวนชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ทักษะหลายอย่างกลับยังไม่สามารถแข่งกับนานาชาติได้ เช่น:
- ในการวัดทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านของเด็กแต่ละประเทศทั่วโลก (การประเมิน PISA 2018) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 58 ด้านคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54 ด้านวิทยาศาสตร์ และอันดับที่ 67 ด้านการอ่าน จาก 79 ประเทศทั่วโลกที่ถูกวัดผล
- ในการวัดทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index 2022) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 97 จาก 111 ประเทศที่ถูกวัดผล
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความขยันหรือความทุ่มเทของนักเรียน แต่อยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถแปรความขยันหรือเวลาของนักเรียน ไปเป็นทักษะที่แข่งขันในระดับสากลได้
การปฏิรูปหลักสูตร-วิธีการสอน-การประเมิน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
ข้อเสนอ
- ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียนลง (เป้าหมายไม่เกิน 800-1,000 ชั่วโมงต่อปี) เพื่อให้เหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
- ลดการบ้านเพื่อรับประกันเวลาเพียงพอในการพักผ่อน (เช่น บูรณาการการบ้านในหลายวิชา เปลี่ยนจากการบ้านเป็นการทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมในเวลาเรียน)
- ลดการสอบและหาวิธีประเมินรูปแบบอื่น (เช่น การทำโครงการกลุ่ม)
- ปรับวิธีการประเมิน-การทดสอบระดับชาติ (O-NET) เป็นแบบสุ่มสอบนักเรียนกลุ่มหนึ่งในแต่ละโรงเรียน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนแทนการสอบทั้งระดับชั้น